การจัดการเรียนการสอนแบบซิปปา

ความหมายของการจัดการเรียนการสอนแบบซิปปา

การจัดการเรียนการสอนแบบซิปปา เป็นรูปแบบของการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้รูปแบบหนึ่งที่ได้รับความสนใจ และมีนักศึกษาหลายท่านได้ให้คำจำกัดความของการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางแบบซิปปา (กรมวิชาการ. 2538 : 1-2 ; สุรางค์ เจริญสุข. 2540 : 6 ; วัฒนาพรระงับทุกข์. 2542 : 8 ; สุพล วังสินธ์. 2542 : 8 ; และทิศนา แขมมณี และคณะ. 2542 : 14-15) มีรายละเอียดของรูปแบบดังนี้

C หมายถึง Construction คือ การให้ผู้เรียนสร้างความรู้ได้ด้วยตนเอง โดยกระบวนการแสวงหาข้อมูล ทำความเข้าใจ คิดวิเคราะห์ ตีความ แปลความ สร้างความหมายสังเคราะห์ข้อมูลและสรุปเป็นข้อความรู้

  I หมายถึง Interaction คือ การให้ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน เรียนรู้ จากกัน แลกเปลี่ยนข้อมูลความคิด และประสบการณ์แก่กันและกัน

P หมายถึง Participation คือ การให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมทั้งในด้านร่างกาย อารมณ์ ปัญญา และสังคม ในการเรียนรู้ให้มากที่สุด

   P หมายถึง Process and Product คือ การให้ผู้เรียนได้เรียนรู้กระบวนการ และมีผลงานจากการเรียนรู้

A หมายถึง Application คือ การให้ผู้เรียนนำความรู้ที่ได้ไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน
การจัดการเรียนการสอนแบบซิปปา คือ การจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางแบบประสาน 5 แนวคิดหลัก คือ

1. แนวคิดการสรรค์สร้างความรู้ (Constructivism)

2. แนวคิดเรื่องกระบวนการกลุ่มและการเรียนแบบร่วมมือ (Group Process and Cooperative Learning)

3. แนวคิดเกี่ยวกับความพร้อมในการเรียนรู้ (Learning Readiness)

4. แนวคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้กระบวนการ (Process Learning)

5. แนวคิดเกี่ยวกับการถ่ายโอนการเรียนรู้ (Transfer of Learning)


หลักการออกแบบการจัดการเรียนการสอนแบบซิปปา

จากแนวคิดดังกล่าวข้างต้น นำไปสู่หลักการออกแบบกิจกรรมการเรียนการสอนแบบซิปปา ดังนี้ (ทิศนา แขมมณี และคณะ. 2542 : 2-5)

1. เป็นกิจกรรมที่ช่วยให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมทั้งทางด้านร่างกาย สติปัญญา สังคม และอารมณ์ ทั้งนี้เพื่อให้ผู้เรียนได้มีโอกาสเข้าร่วมในกิจกรรมการเรียนการสอนอย่างทั่วถึงและมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ การที่ผู้เรียนมีบทบาทเป็นผู้กระทำจะช่วยให้ผู้เรียนเกิดความพร้อมและกระตือรือร้นที่จะเรียนอย่างมีชีวิตชีวา กิจกรรมที่จัดจึงควรเป็นกิจกรรมที่มีลักษณะดังนี้

1.1 ช่วยให้ผู้เรียนได้เคลื่อนไหวในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง เป็นระยะ ๆ เหมาะสมกับวัยและความสนใจของผู้เรียน

1.2 มีประเด็นท้าทาย ให้ผู้เรียนได้คิดเป็นประเด็นที่ไม่ยากหรือง่ายเกินไป เหมาะสมกับวัยและความสามารถของผู้เรียน เพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนคิดหรือลงมือทำเรื่องใดเรื่องหนึ่ง

1.3 ช่วยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากบุคคลหรือสิ่งแวดล้อมรอบตัว

1.4 ส่งผลต่ออารมณ์ ความรู้สึกของผู้เรียน เกี่ยวข้องกับชีวิตประสบการณ์และความเป็นจริงของผู้เรียน

2. ยึดกลุ่มเป็นแหล่งความรู้ที่สำคัญ โดยให้ผู้เรียนได้มีโอกาสได้ปฏิสัมพันธ์กันในกลุ่ม ได้พูดคุย ปรึกษาหารือ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ซึ่งกันและกัน ข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้จะช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมของตนเองและผู้อื่น และจะปรับตัวให้สามารถอยู่ในสังคมร่วมกับผู้อื่นได้

3. ยึดการค้นพบด้วยตนเองเป็นวิธีการสำคัญ โดยครูผู้สอนพยายามจัดการเรียนการสอนที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ค้นหาคำตอบด้วยตนเอง ทั้งนี้ เพราะการค้นพบความจริงใด ๆ ด้วยตนเองนั้น ผู้เรียนมักจะจดจำได้ดีและมีความหมายโดยตรงต่อผู้เรียน รวมทั้งเกิดความคงทนในการเรียนรู้

4. เน้นกระบวนการ (Process) ควบคู่ไปกับผลงาน (Product) โดยการส่งเสริมให้ผู้เรียนคิดวิเคราะห์ถึงกระบวนการต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดผลงาน มิใช่มุ่งจะพิจารณาถึงผลงานแต่เพียงอย่างเดียว ทั้งนี้เพราะประสิทธิภาพของผลงานนี้ขึ้นอยู่กับประสิทธิผลของกระบวนการ

5. เน้นการนำความรู้ไปประยุกต์ใช้หรือใช้ในชีวิตประจำวัน โดยให้ผู้เรียนได้มีโอกาสคิดหาแนวทางที่จะนำความรู้ความเข้าใจไปใช้ในชีวิตประจำวัน พยายามส่งเสริมให้เกิดการปฏิบัติจริง และพยายามติดตามผลการปฏิบัติของผู้เรียน
หลักการจัดกระบวนการเรียนการสอนแบบซิปปา

ทิศนาแขมมณีและคณะ(2542 : 6 –7) ได้เสนอหลักการในการจัดการเรียนการสอนแบบซิปปาไว้ว่ากิจกรรมการเรียนการสอนควรมีคุณสมบัติดังนี้

1. ช่วยให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้ผู้เรียนเป็นผู้สร้างความรู้ด้วยตนเอง (Construct)

2. ผู้เรียนมีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้มากที่สุด (Participation)

3. ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความคิดข้อความรู้ ตลอดจนถึงการเรียนรู้จากกันและกัน (Interaction)

4. ผู้เรียนได้เรียนรู้กระบวนการควบคู่กันไปกับผลงาน (Process& Product)

5. ผู้เรียนได้นำความรู้ไปใช้ได้ (Application)
กระบวนการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางนี้มีตัวบ่งชี้การเรียนของนักเรียน 9 ข้อและตัวบ่งชี้การสอนของครู10 ข้อ(สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ. 2541 : 10)

ตัวบ่งชี้การเรียนของนักเรียน

1. นักเรียนมีประสบการณ์ตรงกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

2. นักเรียนฝึกปฏิบัติจนค้นพบความถนัดและวิธีการของตนเอง

3. นักเรียนทำกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากกลุ่ม

4. นักเรียนฝึกหัดอ่านหลากหลาย และสร้างสรรค์จินตนาการ ตลอดจนได้แสดงออกอย่างชัดเจนและมีเหตุผล

5. นักเรียนได้รับการเสริมแรงให้ค้นหาคำตอบแก้ปัญหาทั้งด้วยตนเองและร่วมด้วยช่วยกัน

6. นักเรียนได้ฝึกฝนรวบรวมข้อมูลและสร้างสรรค์ความรู้ด้วยตนเอง

7. นักเรียนเลือกทำกิจกรรมตามความสามารถความถนัดและความสนใจของตนเองอย่างมีความสุข

8. นักเรียนฝึกตนเองให้มีวินัยและรับผิดชอบในการทำงาน

9. นักเรียนฝึกประเมินปรับปรุงตนเองและยอมรับผู้อื่นตลอดจนใฝ่หาความรู้อย่างต่อเนื่อง

ตัวบ่งชี้การสอนของครู

1. ครูเตรียมการสอนทั้งเนื้อหาและวิธีการ

2. ครูจัดสิ่งแวดล้อมและบรรยากาศที่ปลุกเร้าจูงใจและส่งเสริมแรงให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้

3. ครูเอาใจใส่นักเรียนเป็นรายบุคคลและแสดงความเมตตาต่อนักเรียนอย่างทั่วถึง

4. ครูจัดกิจกรรมและสถานการณ์ให้นักเรียนได้แสดงออกและคิดอย่างสร้างสรรค์

5. ครูส่งเสริมให้นักเรียนฝึกหัดฝึกทำและฝึกปรับปรุงตนเอง

6. ครูส่งเสริมกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากกลุ่มพร้อมทั้งสังเกตส่วนดีและปรับปรุงส่วนด้อยของนักเรียน

7. ครูใช้สื่อการสอนเพื่อฝึกความคิดการแก้ปัญหาและการค้นพบความรู้

8. ครูใช้แหล่งเรียนรู้หลากหลายและเชื่อมโยงประสบการณ์ชีวิตจริง

9. ครูฝึกฝนกิริยามารยาทและวินัยตามวิถีวัฒนธรรมไทย

10. ครูสังเกตและประเมินพัฒนาการของนักเรียนอย่างต่อเนื่อง

จากตัวบ่งชี้การสอนของครูทั้ง10 ข้ออาจสรุปได้ว่าครูผู้สอนจะต้องเปลี่ยนบทบาทจากผู้สอนมาเป็นผู้อำนวยความสะดวก(Facilitator) คือเป็นผู้จัดประสบการณ์และจัดสื่อการเรียนการสอนเพื่อให้ผู้เรียนใช้เป็นแนวทางในการสร้างสรรค์ความรู้ด้วยตนเอง

รูปแบบการจัดการเรียนการสอนแบบซิปปา

การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนแบบซิปปามีหลายรูปแบบซึ่งแต่ละรูปแบบจะมีระดับบทบาทของครูและผู้เรียนมากน้อยต่างกันไปดังนี้(วัฒนาพรระงับทุกข์. 2542 : 11; สุรางค์เจริญสุข. 2540 : 7) สามารถจัดได้3 รูปแบบดังนี้

แบบที่1 Student – Centered Class

ครูเป็นผู้เตรียมเนื้อหาสื่อการเรียนวัสดุ– อุปกรณ์นักเรียนเป็นผู้ดำเนินกิจกรรมตามคำแนะนำของครูซึ่งส่วนใหญ่จะทำในรูปแบบของกิจกรรมที่เป็นคู่เป็นกลุ่ม

แบบที่2 Learner –Based Teaching

ครูจะเป็นผู้กระตุ้นมอบหมายให้ผู้เรียนค้นคว้าผลิตสื่อการเรียนด้วยตนเองซึ่งจะใช้ได้ดีกับการเรียนภาษาต่างประเทศ เพราะผู้เรียนจะได้ฝึกทักษะทางภาษาได้เป็นสองเท่าทั้งในขณะที่เตรียมและฝึก

แบบที่3 Learner Independence

ผู้เรียนจะศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองในห้องศูนย์การเรียน มีอิสระจากห้องเรียนปกติ สามารถเลือกทำงานตามความสามารถ ความสนใจและความถนัดของผู้เรียนอาจเรียนคนเดียว หรือเรียนเป็นคู่เป็นกลุ่มกับเพื่อนก็ได้

วิธีการจัดการเรียนการสอนแบบซิปปา

ขั้นที่1 วิเคราะห์จุดประสงค์การเรียนรู้

ต้องการให้ผู้เรียนเกิดพฤติกรรมใดในระดับใด

ขั้นที่2 วิเคราะห์ผู้เรียน

มีความสามารถความสนใจและวิธีเรียนอย่างไร

ขั้นที่3 เลือกเทคนิควิธีการสอน

หลากหลายสนองผู้เรียนโดยพิจารณาจาก

– จุดเด่นในการเสริมสร้างทักษะข้อความรู้และพฤติกรรม

– ประสิทธิผลในการสร้างทักษะข้อความรู้ประสบการณ์

– โอกาสในการแสดงบทบาทการเรียนรู้ของผู้เรียน

ขั้นที่4 ปรับและเรียบเรียงเทคนิค

ให้เหมาะสมกับจุดมุ่งหมายกระบวนการเรียนการสอนและผลที่เกิดขึ้นกับผู้เรียน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

About นภดล ยิ่งยงสกุล

ศึกษานิเทศก์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสตูล

Posted on 24/01/2012, in เทคนิควิธีการสอน and tagged , . Bookmark the permalink. ใส่ความเห็น.

ใส่ความเห็น