เทคนิคการสอนแก้โจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์แบบกลวิธี SQRQCQ
กลวิธี SQRQCQ เป็นกลวิธีหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมความสามารถในการแก้โจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์ให้แก่นักเรียน ซึ่งกลวิธีนี้ได้พัฒนาโดย Leo Fey (จักรพันธ์ ทองเอียด. 2540 : 54-56) ได้พัฒนามาจากกลวิธี SQ3R ของ Robinson ซึ่งกลวิธี SQ3R นี้เป็นกลวิธีที่มีประสิทธิภาพที่สามารถช่วยปรับปรุงทักษะการอ่านจับใจความสำหรับนักเรียนที่เรียนช้า และมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ
กลวิธี SQRQCQ มีขั้นการสอน 6 ขั้น คือ
- ขั้น S (Survey) เป็นขั้นการสำรวจปัญหา ในขั้นนี้นักเรียนจะช่วยกันอ่านออกเสียงโจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์ เพื่อที่จะค้นหาคำหรือประโยคที่นักเรียนไม่เข้าใจ พร้อมทั้งช่วยกันทำความเข้าใจคำ หรือประโยคนั้น ๆ โดยการถามตัวเอง ถามเพื่อน แล้วจดบันทึกลงในแบบบันทึก
- ขั้น Q (Question) เป็นขั้นการตั้งคำถามเกี่ยวกับสิ่งที่โจทย์ต้องการทราบ ในขั้นนี้นักเรียนจะถามตนเองหรือเพื่อนว่า โจทย์ต้องการทราบอะไร แล้วจดบันทึกคำตอบที่ได้ลงในแบบบันทึก หากนักเรียนไม่สามารถตอบได้ว่า โจทย์ต้องการทราบอะไร นักเรียนจะต้องช่วยกันอ่านออกเสียงโจทย์ปัญหา ใช้คำถามเพื่อทำความเข้าใจโจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์อีกครั้ง
- ขั้น R (Read) เป็นขั้นการอ่าน แยกแยะข้อมูล นักเรียนจะถามตนเองหรือเพื่อนว่าโจทย์ให้ข้อมูลใดบ้าง ข้อมูลใดจำเป็น ข้อมูลใดไม่จำเป็นในการแก้โจทย์ปัญหา แล้วช่วยกันอ่านออกเสียงโจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์ เมื่อได้คำตอบแล้วนักเรียนจดบันทึกลงในแบบบันทึก
- ขั้น Q (Question) เป็นขั้นการตั้งคำถามเกี่ยวกับวิธีคิดคำนวณ ในขั้นนี้นักเรียนจะถามตนเองและเพื่อนว่าจะใช้วิธีการใดในการคิดคำนวณ บวก ลบ หรือทั้งบวก และลบในการแก้โจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์ แล้วจดบันทึกคำตอบที่ได้ลงในแบบบันทึก
- ขั้น C (Complete) เป็นขั้นการคำนวณ ขั้นนี้นักเรียนจะถามตนเองหรือเพื่อนว่า โจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์นี้สามารถเขียนเป็นประโยคสัญลักษณ์ได้อย่างไร นักเรียนแสดงวิธีทำลงในแบบบันทึก
- ขั้น Q (Question) เป็นขั้นการตั้งคำถามเกี่ยวกับการตรวจสอบคำตอบ เป็นขั้นที่นักเรียนถามตนเองและเพื่อนว่า คำตอบที่ได้มีความเป็นไปได้หรือไม่ เพราะอะไร แล้วจดบันทึกลงในแบบบันทึก
Posted on 08/03/2012, in เทคนิควิธีการสอน. Bookmark the permalink. ใส่ความเห็น.
ใส่ความเห็น
Comments 0